"มันก็แค่ศิลปะ"
คำถามที่ถูกถามบ่อยพอๆ กับคำถามโลกแตกอย่าง “ศิลปะคืออะไร” ตอนนี้คงหนีไม่พ้น “ศิลปะควรทำอะไรในสภาวะคับขันเช่นนี้?”
การยื่นโพยคำตอบเพื่อให้คะแนนความถูกต้องคงเป็นการพายเรือในอ่างท่ามกลางไฟการเมืองอันร้อนระอุ เรามองว่าการหาคำตอบจึงเป็นการตอบแล้วตอบอีก ตอบใหม่เพื่อล้ม ตอบซ้ำเพื่อตั้งคำถาม ผลักมันออกจากวังวนเดิม เปลี่ยนทิศทางเรือ แต่ไม่ไดัหนีออกจากไฟ
เรายังจำได้ว่าสมัยมัธยมแบบเรียนสอนเราไว้ว่าศิลปะจะรุ่มรวยเมื่อบ้านเมืองรุ่งเรือง ทำให้เข้าใจไปว่าศิลปะคือกิจกรรมฟุ่มเฟือย ที่มีไว้เพื่อจรรโลงใจ แต่ก็พบว่าไม่เห็นจะจริง…ศิลปะที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ศิลปะการเมือง” ที่กระตุกอารมณ์ช่วงนี้ก็ นู่น อยู่ที่ม็อบ อยู่ที่สน. อยู่ที่ศาล ข้อเขียนการเมืองที่กินใจที่สุด ก็ไปฟังได้ที่การปราศรัยเสียงแตกพร่าผ่านโทรโข่งในม็อบ หรืออ่านได้จากจดหมายของนักโทษการเมือง อ่านได้รายวันเพียงแค่ไถฟีดเฟสบุ้ค บ้านเมืองเราตอนนี้คงเรียกได้ว่าห่างไกลคำว่ารุ่งเรือง แต่ที่แน่นอนคือตอนนี้ศิลปะมีบทบาทแและความเข้มข้น แม้ว่ากิจกรรมเหล่านี้บางครั้งอาจไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นงานศิลปะเสียด้วยซ้ำ
จริงๆ แล้วอะไรๆ ก็เป็นการเมืองทั้งนั้น หากเราไม่จำกัดการตีความคำว่าการเมืองอยู่ที่ห้องประชุมรัฐสภาและตึกไทยคู่ฟ้า เป็นการเมืองเพราะแม้แต่สิ่งที่ดูไกลห่างจากศูนย์กลางอำนาจที่สุดก็มีพลวัตยึดโยงไปกับสิ่งอื่นๆ กระจายออกเป็นอำนาจย่อยที่ไหลเวียนอยู่ในกิจวัตรประจำวันและสำนึกคิดของเราทุกคน ความหมายของคำว่า ‘การเมือง’ จึงกว้างและขยายออกอยู่เสมอ เมื่อพูดเช่นนี้แล้ว คำถามว่าศิลปะเป็นการเมืองมั้ยหรือเมื่อไหร่ จึงไม่ได้ถูกกำหนดด้วยหัวข้อเพียงปัจจัยเดียว (ว่าพูดถึงเหตุการณ์หรือข้อถกเถียงทางการเมืองโดยตรงหรือเปล่า) แต่ครอบคลุมไปตลอดกระบวนการและการยึดโยงกับบริบทแห่งที่
สิ่งที่การชุมนุมก่อให้เกิด นอกจากการแสดงออกทางการเมืองในชั่วขณะของการลงถนนแล้ว คือการฝากคำถามให้เราหิ้วกลับไปยังแห่งที่ของตนเอง และหากแห่งที่นั้นของเราคือแวดวงศิลปะแล้ว มันก็กระตุกให้เราได้ฉุกคิดว่า หากการทำงานศิลปะ (ในความหมายกว้างและขยายออก) เป็นการต่อสู้ทางวัฒนธรรม เป็นเสมือนอีกทัพหนึ่งในการต่อสู้ขับเคลื่อนครั้งนี้ ถึงแม้วิถีการทำงานจะดำเนินไปและเห็นผลได้เชื่องช้า แต่ความจำเป็นของมันก็เร่งด่วนอยู่เสมอ ไม่แพ้การลงถนนเลย
ถึงการผลิดอกของงานจะคลี่ออกด้วยเวลา แต่มันก็ไม่ได้ต่ำต้อยไปกว่าใคร แต่ในทางกลับกันศิลปะเองก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าใครเช่นกัน เราแต่ละคนล้วนมีความสัมพันธ์กับการเมืองในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ศิลปะก็คือหนึ่งในรูปแบบที่เป็นไปได้ และงานเองก็ไม่ได้งอกเฉพาะตอนที่รู้สึกคับขัน สะดุ้งต่อเมื่อรู้สึกได้ถึงความ(เดือด)ร้อน คำถามสำหรับเราจึงไม่ใช่ว่า “ศิลปะควรทำอะไรในสภาวะคับขันเช่นนี้?” แต่เป็น “ศิลปะควรทำอะไร?” ในทุกขณะ ทุกสภาวะ ไม่ใช่แค่ช่วงบีบคั้นของวิกฤต
น้ำขึ้นคอลเลคทีฟ
นี่เป็นเสี้ยวความคิดหนึ่งที่น้ำขึ้นอยากชวนทุกท่านคุยในการสนทนา “ภาวะหลังชุมนุม: ศิลปะจะไปทางไหนต่อ?” กับศิลปินและนักเคลื่อนไหวจากฮ่องกง wen yau ในวันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม เวลา 14.000-16.00 ทาง Google Meet ผ่านอีเว้นท์นี้ https://www.facebook.com/events/484316669671699?ref=newsfeed สามารถติดตามรายเอียดกิจกรรมได้ทางเพจ inappropriate BOOK CLUB ผู้จัดกิจกรรม (ทั้งนี้จะไม่มีการ Facebook Live เพื่อความเป็นอิสระในการพูดคุย เพราะฉะนั้นหากท่านสนใจ จำเป็นเข้าร่วมในเวลาดังกล่าวเท่านั้น)